สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดอบรม "Train the Trainer for Aviation Personnel " รุ่นที่ 29 พัฒนาทักษะวิทยากรมืออาชีพในอุตสาหกรรมการบิน พร้อมรับประกาศนียบัตรรับรอง
สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU Aviation Academy: DAA) ร่วมกับ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (College of Aviation Development and Training: CADT) จัดหลักสูตร "Train the Trainer for Aviation Personnel Program" รุ่นที่ 29 ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินให้เป็นวิทยากรมืออาชีพ โดยโครงการนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 – 21 กุมภาพันธ์ 2568 ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อาจารย์สุนันทา พาสุนันท์ วิทยากรและผู้จัดการสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า หลักสูตรนี้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเนื้อหาการอบรมครอบคลุมหัวข้อสำคัญ ได้แก่ เทคนิคการถ่ายทอดความรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน การจัดการห้องเรียนและการประเมินผลการสอน การสื่อสารและจิตวิทยาสำหรับวิทยากร และการฝึกปฏิบัติการเป็นวิทยากรและพัฒนาแผนการสอน ซึ่งการเป็นวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงแค่ความรู้เฉพาะทางในอุตสาหกรรมการบินเท่านั้น แต่ยังต้องมีทักษะในการถ่ายทอดองค์ความรู้ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และความสามารถในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน โดยหลักสูตร Train the Trainer for Aviation Personnel ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มุ่งเน้นให้ผู้เข้าอบรมสามารถออกแบบหลักสูตร ฝึกสอน และประเมินผลการเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรม Train the Trainer for Aviation Personnel รุ่นที่ 29 เป็นการเสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากร ในอุตสาหกรรมการบิน เพิ่มขีดความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ให้แก่บุคลากรในองค์กร ฝึกฝนทักษะด้านการสื่อสารและจิตวิทยา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอน เตรียมความพร้อมในการจัดการห้องเรียน การวางแผนหลักสูตร ตลอดจนการประเมินผล
โครงการ Train the Trainer for Aviation Personnel รุ่นที่ 29 ได้รับเกียรติจาก วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบินโดยตรง ได้แก่ นาวาอากาศเอก ดร.วีรชน นรานุต ครูสอนนักบินและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารในอุตสาหกรรมการบิน และอาจารย์สุนันทา พาสุนันท์ วิทยากรและผู้จัดการสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


นอกจากนี้ อาจารย์สุนันทา ยังเปิดเผยอีกว่า หลักสูตรนี้ออกแบบมาสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านการเป็นวิทยากร เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม (Training Officers) จากสายการบิน สนามบิน และหน่วยงานด้านการบิน นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และบุคลากรที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะการสื่อสารและการสอน และบุคคลทั่วไปที่สนใจพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากรเพื่อประยุกต์ใช้ในสายงานของตนเอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการฝึกอบรม หลักสูตรนี้จำกัดจำนวนผู้เข้าอบรมไม่เกิน 20 ท่านต่อรุ่น โดยใช้แนวทาง Interactive Learning ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฝึกปฏิบัติจริง และได้รับคำแนะนำจากวิทยากรโดยตรง
โดยผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ คือการเสริมสร้างความมั่นใจในการเป็นวิทยากร ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียนรู้เทคนิคการออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม ที่สามารถนำไปใช้ในองค์กรได้จริง และได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์






“สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โทร. 061-863-7991 โดยรุ่นถัดไป (รุ่นที่ 30) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. - 4 ก.ค. 2568 หรือสำหรับท่านที่สนใจหลักสูตรอื่นๆ ของสถาบันฯ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ตารางฝึกอบรม 2568” ผู้จัดการสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเพิ่มเติม
Comments