DPU จับมือ Thai VietJet Air ตั้งศูนย์ฝึกประตูเครื่องบิน B737 ต่อยอดสู่ความเป็นผู้นำการฝึกอบรมด้านการบินในระดับภูมิภาคให้แก่นักศึกษาและบุคลากรการบินทุกสายการบิน
- DAA-Admin
- 14 minutes ago
- 1 min read
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ (Business Agreement) กับสายการบิน Thai VietJet Air เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมประตูเครื่องบิน B737 (B737 Door Training Simulator Center)” ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อติดตั้งเครื่องฝึกจำลองประตู (Door Simulator) ที่ใช้ในการฝึกอบรมลูกเรือและนักศึกษา เป็นการยกระดับการเรียนรู้เชิงปฏิบัติให้แก่นักศึกษาสาขาธุรกิจการบินของมหาวิทยาลัย อีกทั้งสร้างความร่วมมือระยะยาวกับสายการบินชั้นนำ สนับสนุนการผลิตบุคลากรคุณภาพ ตลอดจนแบ่งปันผลประโยชน์ทางธุรกิจ ภายใต้กรอบการลงทุนร่วมของทั้งสององค์กร โดยมีผู้บริหารจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมพิธีลงนาม ณ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อาจารย์ปวรรัตน์ สุภิมารส รักษาการคณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้สืบเนื่องจากการลงนาม MOU ด้านวิชาการก่อนหน้านี้ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการ เช่น การส่งนักศึกษาเข้าร่วมสหกิจศึกษาในองค์กรจริง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งความร่วมมือได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง Thai VietJet Air ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายฝูงบินและเพิ่มบุคลากรด้านลูกเรือ มองเห็นศักยภาพของ DPU ในการเป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับมืออาชีพ

“เรามีศูนย์ฝึกและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมรองรับการฝึกอบรมลูกเรือในทุกมิติ การมีอุปกรณ์สำคัญคือประตูจำลองของเครื่องบิน จะเพิ่มความครบครัน ซึ่งครั้งนี้ Thai VietJet Air จะเป็นผู้ลงทุนติดตั้ง ‘Door Trainer’ สำหรับเครื่องบินรุ่น Boeing 737 เพื่อใช้ฝึกอบรมทั้งบุคลากรของสายการบินและนักศึกษาในสาขาธุรกิจการบินของวิทยาลัยฯ” อาจารย์ปวรรัตน์ กล่าว

อาจารย์ปวรรัตน์ยังเปิดเผยอีกว่า เครื่องจำลองประตู B737 นี้สามารถจำลองสถานการณ์จริงในกรณีฉุกเฉินและต้องทำการอพยพผู้โดยสาร หรือเหตุขัดข้องระหว่างบิน ซึ่งลูกเรือจำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งการตรวจเช็กความพร้อมของประตู การเปิดประตูอย่างถูกต้อง การสื่อสารควบคุมผู้โดยสาร และการใช้อุปกรณ์นิรภัย โดยการฝึกอบรมเหล่านี้ถือเป็นข้อกำหนดสำคัญตามมาตรฐานสากลที่ลูกเรือจะต้องผ่านการอบรม และต้องกลับมาเข้ารับการฝึกทุกปี

“ไม่ใช่แค่การเปิดประตูเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้การประเมินสถานการณ์ และวิธี ‘สั่งการและควบคุม’ ผู้โดยสารในสถานการณ์วิกฤต ที่ต้องอพยพให้เร็วและปลอดภัยที่สุด ซึ่งในภาคเรียน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของเรา จะได้เรียนวิชาด้านความปลอดภัยบนเที่ยวบินควบคู่ไปกับวิชาด้านการบริการ ซึ่งจะทำให้เข้าใจบทบาทของลูกเรืออย่างครบถ้วน ทั้งมิติของการบริการและความปลอดภัย” อาจารย์ปวรรัตน์ระบุ

นอกจากนี้ รักษาการคณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบินกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาอุปกรณ์ฝึกอบรมประเภทนี้มักอยู่ในศูนย์ฝึกของสายการบินเท่านั้น ซึ่งการเข้าถึงสำหรับนักศึกษานั้นมีข้อจำกัด การติดตั้ง Door Trainer ภายในมหาวิทยาลัย จึงถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกจากอุปกรณ์จริง เพิ่มความเข้าใจและความมั่นใจในการเข้าสู่สายอาชีพ เพราะสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างภาพจำที่ชัดเจนให้กับนักศึกษา แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเห็นเส้นทางอาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินด้วยความเข้าใจและประสบการณ์ที่ถูกต้อง

Comments